EP 1 : รีวิววิชาเรียนของวิศวะจุฬา ปี 1 เทอม 1 ปีการศึกษา 2565

 

ผ่านมาแล้วสำหรับ ปี 1 เทอม 1 ของวิศวะ ฬ เหนื่อยเหมือนกันนะเนี่ย 555+

       สวัสดีฮะทุกคน สำหรับ Blog นี้ เราจะมารีวิวสำหรับวิชาเรียนของคณะวิศวะภาครวม ปี 1 เทอม 1 ปีการศึกษา 2565 กันฮะ ซึ่งเป็นปีแรกหลังจากปิดเรียนเป็น Online จากโควิดในรอบ 2 ปี และเป็นปีที่ มีการปรับการเรียนการสอนใหม่ในหลายๆ วิชา มากเลย (เอาซะรุ่นพี่บางรุ่นงงว่าวิชาเดียวกันมั้ยเลยบางที 555+)
     บางคนอาจมาเห็น Blog นี้ผ่านทาง Post IG เรานั่นเองนะ เพราะใน Blog นี้เราจะรีวิวละเอียดระดับเนื้อหาการเรียน การเก็บคะแนนเลย ซึ่งใน IG จะไม่ได้รีวิวขนาดนั้น เพราะนั่นแหล่ะ 555+ ( ไม่พอ TT )

❗ Caution

  • แต่ละการรีวิวนี้ เป็นการรีวิวในความคิดเห็นส่วนตัวของเราเองเท่านั้น อาจมีการให้มุมมองที่แง่ลบ หรือความรู้สึกที่มองผ่านวิชานั้นจริงๆ รวมไปถึงความอวยแต่ละวิชาด้วย อิ_อิ
  • ในแต่ละปีการเก็บคะแนน การจัดการสอนอาจไม่เหมือนกันนะ แต่โดยรวมแล้วจะมีความคล้ายๆ กันอยู่ในแต่ละปี เช่น การออกข้อสอบ เป็นต้น
  • เราอาจไม่ได้ถนัดวิชาบางวิชา จึงรีวิวมันในมุมมองของคนที่ไม่ถนัดจริงๆ 

🔍 ภาพรวมของการเรียน

    สำหรับการเรียนของวิศวะจุฬา ปี 1 นี้เราจะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เข้ามาแล้วมีภาค(สาขา) เลย กับ กลุ่มที่เข้ามาแล้วยังไม่มีสาขา (จะเรียกว่า ภาครวม) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเข้าผ่าน TCAS รอบ 1 และ 3 กัน เป็นหลัก และในกลุ่มภาครวมนี้จะได้เลือกเข้าภาคในตอนปิดเทอมใหญ่ที่กำลังขึ้น ปี 2 นั่นเอง โดยจะใช้เกรดของแต่ละวิชาที่ตัวเองสะสมมาตอนอยู่ ปี 1

เกณฑ์น้ำหนักแต่ละวิชา ตอนยื่นเข้าภาคปี 2
ที่มา : https://reg.eng.chula.ac.th

           จะเห็นได้ว่าจะมีวิชาหลักอยู่ 14 วิชา 4 กลุ่มฮะ โดยแต่ละเทอมจะแบ่งเรียนเป็น 7 วิชา แต่ด้วยความที่นิสิตในคณะมีจำนวนที่เยอะมากๆ จึงได้แบ่งจำนวนออกเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่ม A และ B (เราสมมติเองนะ) โดยจะมีวิชาดังนี้ 
        หมายเหตุ : สำหรับหลายๆ ภาค ก็จะเรียนเหมือนภาครวมสำหรับปี 1 ฮะ ยกเว้น ภาคคอม
 
กลุ่ม A :

กลุ่ม B :


         โดยทั้ง 2 กลุ่มเมื่อเรียนจบแล้วจะเรียนทั้งสิ้น 14 วิชา 36 หน่วยกิต (ถ้าไม่เกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้น เช่น ถอน หรือติด F นะ) และเราก็อยู่ในกลุ่ม A นั่นเอง ซึ่งสำหรับ Blog นี้เราจะรีวิววิชาในส่วนของเทอม 1 กลุ่ม A ก่อน นะ

Calculus I  (Cal I)

   ความยาก : 7.5/10 
   การตัดเกรด : อิงเกณฑ์ 
<< วิชานี้แอบตัดเกรดแปลกๆ นะ >>

   การเก็บคะแนน : สอบ 100% แบ่งเป็น Midterm (50%) + Final (50%) 
    เนื้อหาที่เรียน
          1. ลิมิตและความต่อเนื่อง
          2. อนุพันธ์ของฟังก์ชั่น
          3. อินทิเกรตของฟังก์ชั่น
          4. การประยุกต์ของอนุพันธ์
          5. เทคนิคการอินทิเกรต
          6. การประยุกต์ของอินทิเกรต และอินทิกรัลไม่ตรงแบบ  
              หมายเหตุ : Midterm 3 เรื่องแรก และ Final 3 เรื่องหลัง และส่วนที่เป็นสีน้ำเงินคือเป็นเนื้อหาใหม่ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนตอน ม.ปลายเลย 

    รีวิววิชาเรียน
            สำหรับวิชานี้ เป็นวิชาที่ยืนยันได้เลยว่า "อย่าทิ้งความรู้วิชาเลขตอน ม.ปลาย" ทุกบทเลยเด็ดขาดจริงๆ ไม่งั้น อาจพังได้ แน่ตอนเรียนอ่ะ สำหรับการเรียนวิชานี้จะได้ฟิลเหมือนเรียนแคลคูลัสเบื้องต้น ตอน ม.ปลาย นั่นแหล่ะแต่จะลึกขึ้นอย่างมากกกกก (ตอน ม.ปลาย คิดเป็น 1/3 ของ Midterm ยังไม่รู้จะถึงมั้ย 555+) ซึ่งเราอ่ะชอบเรียนวิชานี้มากระดับนึงเลยแหล่ะ 

            เนื้อหาที่เรียนตอน ม.ปลายเราจะได้ ดิฟ-อินทิเกรตแค่พหุนามปกติง่ายๆ แต่เมื่ออยู่มหาลัยเราจะสามารถดิฟ-อินทิเกรตตัวแปลกๆ รวมถึงหาลิมิต ได้แทบหมดเลยเช่น พวกตรีโกณมิติ (อย่าทิ้งสูตรตรีโกณนะ ไม่งั้นเหนื่อย) , Expo&log ฯลฯ รวมไปถึง การจัดรูปเเปลกๆ ที่หาเจอยากตอน ม.ปลาย มาที่นี่ก็จะเจอหมดเลย โดยในส่วนของ Midterm จะมีความเป็นความรู้ ม.ปลายเยอะระดับนึงทำให้สบายบ้างในช่วงตอนต้น แต่ถ้าเป็น Final อ่ะอันนี้หลุด ม.ปลายไปไกลจริงๆ แทบจะเรื่องใหม่ไป 60% ได้เลยแหล่ะ ซึ่งจุดนี้แหล่ะที่อาจารย์ที่สอนบอกว่า เป็นจุดอันตรายจริงๆ ที่ทำให้เทอม 1 มีคนถอนหรือ F เยอะ เนื่องจากเนื้อหา midterm กับ final มันความยากมันคนจะเรื่องเลย เป็นเนื้อหาของมหาลัยจริงๆ มีหลายคนปรับตัวไม่ทัน

        สำหรับการสอบเนี่ย... รุ่นเราเหมือน อาจารย์จะมีเทรนข้อสอบใหม่ยังไงไม่รู้นะแบบ "เชื้อ สสวท. นี่มาแรงจริงๆ 555+" ทำไมหน่ะหรอ..? ออกโจทย์ปัญหาประยุกต์ ด้วยไงหล่ะ แต่ก็ไม่เกินความสามารถ และไม่ยากด้วยถ้าทำแบบฝึกหัดมา แล้วก็วิชานี้ อาจารย์เคยบอกว่า ลดความยากลงมาเยอะระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งตอนแรกเราไม่เชื่อนะ แต่พอเจอข้อสอบ Midterm ไปเท่านั้นแหล่ะ ความยากเทียบไม่ได้เลยกับปีก่อนๆ (ถ้าได้เข้ามาแล้ว ลองดูข้อสอบเก่าดูนะ มันสุดจริงๆ บางปี) 
            
       ที่สำคัญที่อยากให้ระวังคือวิชานี้อ่ะ "หากถอนแล้วจะไม่สามารถลง Calculus II ได้" จำเป็นต้องเรียนตัว Calculus I ให้ผ่านก่อน จึงจะลงวิชานั้นได้ ฮะ

    คำแนะนำ
         1. อย่าทิ้งความรู้เลข ม.ปลายโดยเด็ดขาด!!!!!
         2. ชีทพี่ตูน และแบบฝึกหัดจากอาจารย์ทั้ง 12 ชุด
         3. ตั้งใจเรียนในคาบ สงสัยตรงไหนถ้าจดไว้เลย พอท้ายคาบก็ไปถามอาจารย์ได้เลย 
         4. ฝึกความอดทน หมั่นทำโจทย์ จำสูตรให้แม่น (แนวกึ่งๆ Speed test) 
               (เพื่อนเราคนนึง มันนั่งพิสูจน์สูตรในห้องสอบเพราะไม่จำมา ผลคือ ทำไม่ทัน)
        5. คลิปพี่สอนน้อง 

 👀 General Physic I  (Gen Phys I)

        ความยาก : 7.5/10 
        การตัดเกรด : อิงเกณฑ์

      การเก็บคะแนน : สอบ 100% แบ่งเป็น Midterm (50%) + Final (50%)
                                   +4% (Bonus จากแบบฝึกกลาง) 
      เนื้อหาที่เรียน
          + Midterm 
                    1. จลนศาสตร์ของอนุภาค (แนวตรง วงกลม และโพรเจคไทล์)
                    2. กฎการเคลื่อนที่ และสภาพสมดุล
                    3. งานและพลังงาน
                    4. ระบบอนุภาค และโมเมนตัมเชิงเส้น
                    5. การเคลื่อนที่แบบหมุน
                    6. การกลิ้ง ,ทอร์ค และโมเมนตัมเชิงมุม
         + Final
                    7. กลศาสตร์ของของไหล
                    8. การสั่น
                    9. คลื่นกล 
                 10. เสียง
                 11. แก๊สและทฤษฎีจลน์ของแก๊ส
                 12. ความร้อน และสมดุลความร้อน
                 13. กฎข้อที่ 1 ของเทอร์โมไดนามิกส์
                 14. กฎข้อที่ 2 ของเทอร์โมไดนามิกส์

           หมายเหตุ : ทั้ง 14 บทเราแบ่งตามกลุ่มเนื้อหาบทเท่านั้น ในตอนเรียนจะมีการแบ่งละเอียดกว่านี้ และ ส่วนสีน้ำเงินคือส่วนที่มีการเพิ่มเนื้อหาจาก ม.ปลาย หรือไม่เคยมีเรียนใน ม.ปลาย

    รีวิววิชาเรียน
            แค่เห็นจำนวนบทที่เรียนก็น่าตกใจแล้วซินะ 555+ ใช่ฮะที่อยากจะบอกคือเนื้อหาที่เรียนอ่ะโคตรเยอะเลยจริงๆ ถ้าแบ่งตาม สสวท. ม.ปลาย อาจจะประมาณ 1 เทอมที่มหาลัย = 1 ปีครึ่ง ม.ปลาย ได้เลยแหล่ะ เรื่องสูตรทั้งหลายที่ปรากฎในเนื้อหาไม่ต้องจำไปนะ เพราะในข้อสอบนั้นจะมีการหาสูตรมาอยู่แล้ว + อนุญาตให้เอาเครื่องคิดเลขเข้าห้องสอบได้ด้วย (ย้ำนะ ค่า g มหาลัยไม่ใช่ 10 เลยเด้อ!!!!!! T-T) แต่ที่สำคัญคือการเอาสูตรพวกนั้นอ่ะไปใช้ยังไงนี่แหล่ะสำคัญกว่าจริงๆ เพราะ ข้อสอบวิชานี้ ขึ้นชื่อ พอๆ กับแคลคูลัสเลย  และในเนื้อหาจะมีการ proof สูตรหลายๆ สูตร รวมไปถึงการนำไปใช้โดยอาศัยการ ดิฟ และอินทิเกรตด้วย มันจึงเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้เนื้อหายากระดับนึงเลย

            ข้อสอบแต่ละรอบจะมี 12 ข้อ แบ่งเป็น 6 + 6 โดยที่ 6 ข้อแรกจะเอามาจากแบบฝึกกลาง ที่อาจารย์จะเปิดให้ทำแล้วส่งมา 4% นั่นแหล่ะ อาจารย์จะให้เรารู้ข้อสอบก่อนเลย 6 ข้อนั้น คิดเป็น 15 คะแนนเก็บจากทั้งหมด และ 6 ข้อหลัง อันนี้ไปเจอหน้างานจริงๆ ระดับความยากก็แล้วแต่ความสามารถของเราที่จะประมาณอ่ะนะ ... (สำหรับเราถือว่า ตึงมือระดับนึงเลย)

ภาพนี้แสดงถึง คะแนนสอบกลางภาคฮะ
คะแนนเต็ม 100 แล้วค่อยหาร 2 เป็นคะแนนดิบ
ปล. (ขอขิงงง) เราอยู่ช่วง 200 คนแรกฮะ

            จริงๆ ถ้าดูดีๆ อาจารย์จะช่วยเราอยู่นะ!! ตรงไหนนะหรอ ดูตรงที่หากเราทำแบบฝึกหัดกลางแล้วส่งกลับครบจะได้ 4 คะแนนช่วยแล้ว และหากเราทำข้อสอบ 6 ข้อนั้นที่มาจากแบบฝึกกลางได้เต็ม 2 ครั้ง (Midterm และ Final) 15 x 2 = 30 คะแนน รวมกันได้แน่ๆ 34 คะแนน คือรอด F แน่นอนด้วย!!!! 

    คำแนะนำ
         1. โจทย์ใน serway ,แบบฝึกหัดกลาง และในสไลด์อาจารย์ ควรจะทำให้ได้เยอะๆ
         2. คลิปพี่เคน (ที่ตอนนี้พี่เขาสอน เคมีที่สถาบันสีแดงอ่ะ) 
                - Midterm       - Final                                                 
         3. ตั้งใจเรียนในคาบ สงสัยตรงไหนถ้าจดไว้เลย พอท้ายคาบก็ไปถามอาจารย์ได้เลย 
         4. วิชานี้ไม่มีสูตรลัดแล้ว! อย่าหวังพึ่งมันเลย ถ้าข้อไหนทำไม่ได้อย่างน้อยก็เขียนสูตร เขียน FBD ไปคะแนนก็มีขึ้นมาแล้ว (ถึงจะเป็นเศษเสี้ยวก็ยังได้นะ)
         5. คลิปพี่สอนน้อง 

🥼 General Physic Laboratory I (Gen Phy Lab I)

    ความยาก : 4/10
    การตัดเกรด : อิงเกณฑ์

    การเก็บคะแนน : ใบแลป 10 แลป (60%) + ควิซ 10 ครั้ง (10%) + Final (30%)

    รีวิววิชาเรียน
            สำหรับวิชานี้ค่อนข้างจะเป็นวิชาที่ไม่เครียดมากนัก เพราะเป็นวิชา Lab ที่เน้นปฏิบัติการทดลองมากกว่า โดยเราจะได้ ทำ lab ทั้งสิ้น 10 lab ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้าใจกับตัว Gen Phys ปกติที่เป็นเลคเชอร์ได้ดีเลย และเราจะได้ทำเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คนที่เขาจัดให้ตามลำดับเลขนิสิต

            วิชานี้ตอนเราเรียน เราเรียนรอบวันศุกร์ช่วงบ่ายๆ ถึงเย็นฮะ ฉะนั้นเวลาเรียนมันค่อนข้างจะสบายมากๆ เพราะอะไรนะหรอ!! เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ทำแลปไปคุยกับเพื่อนในกลุ่มกันไปสนุกมากๆ บางทีคือมาหาวิธีเอาตัวรอดจากการสอบ com prog ในวันเสาร์ด้วยงี้อ่ะ 555+

            การสอบวิชานี้จะเป็นการเอาข้อมูล หรือการทดลองทั้ง 10 lab ที่เราทำมาทำเป็นข้อสอบฮะ เฉลี่ยแลปละ 3 คะแนน ซึ่งก็เหมือน gen phys ที่เขาให้เอาเครื่องคิดเลขเข้ามาได้ๆ แต่จะเป็นการถามภาพรวมของแลปที่เราทำ อาจมีให้เติมตารางช่องที่หายไปบ้าง ,หรือให้สถานการณ์แลปที่เคยทำจริงๆ เเล้วถามตรงๆ เลย

    คำแนะนำ
        1. เข้ามาทำแลปทุกครั้ง อย่าขาดเกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้การเข้าเรียนต่ำกว่า 80% 
        2. ตั้งใจทำแลปให้ดีๆ ฮะ สนุกไปกับมัน เเล้วก็เขียนใบแลปให้ดีๆ เพราะ อ.อนุญาตให้ถ่ายได้ เวลากลับมาทบทวนตอนสอบ final มันจะสะดวกมากๆ 

🆎 Experimental English I (Exp Eng I)

    ความยาก : 9/10
    การตัดเกณฑ์ : อิงเกณฑ์

    การเก็บคะแนน

    รีวิววิชาเรียน
               สำหรับวิชาภาษาอังกฤษตัวนี้นั้นเป็นวิชาที่ ไม่เซฟโซนสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดวิชาภาษาอังกฤษ เลย โดยวิชานี้จะเน้นการนำไปใช้งานจริงๆ เพราะฝึกทั้ง 4 ทักษะ คือ Reading ,Speaking ,Writing และ Listening  และอาจารย์ที่สอนแต่ละเซคนั้นไม่เหมือนกัน บ้างจะได้อาจารย์คนไทย บ้างก็ได้ต่างชาติ และ วิชานี้เรียนเหมือนกันทั้งมหาลัย ยกเว้นคณะอักษรฯ เท่านั้นที่จะมีเป็นวิชาแยกของคณะอีกที ซึ่งปีก่อนๆ จะตัดเกรดอิงกลุ่มทั้งมหาลัย ส่วนปีนี้เป็นปีที่ตัดอิงเกณฑ์แทน

            เน้นทำคะแนนเก็บในส่วนของ 40 คะแนนทั้ง wrting , oral assignment (เกี่ยวกับการ presentation) ,เข้าห้อง ให้ได้เยอะๆ ฮะ เพราะมันช่วยได้ค่อนข้างมาก ส่วนคะแนนแล้วแต่เซค และ out of activities ในส่วนนี้แล้วแต่ปีนะ เพราะบางทีเคยมีให้อ่านหนังสือนอกเวลาแทนงี้

            ข้อสอบทั้ง 2 ครั้งจะเเบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Reading (เอาบทความมาให้เราอ่าน อารมณ์เหมือนข้อสอบ GAT วิชาสามัญเลย) และ Writing ส่วนละ 15 คะแนนดิบๆ เลยยย ซึ่ง writing จะ relate กับเนื้อหาที่เราเรียน ณ ตอนนั้น และก็มี prompt ให้เราเลือกเอา 1 ใน 2 จากที่คำสั่งให้มา ซึ่งส่วนนี้จะคล้ายๆ กับ writing ที่เป็น 2.5 , 2 ครั้งนั่นแหล่ะ แต่ prompt ส่วนนั้นแล้วแต่เซคจะได้รับเอง และจะมี สอบ 2 ครั้ง (เก็บคะแนนจริง) และ สอบ mock 2 ครั้ง (ไม่เก็บคะแนน แต่จะเป็นการรับ feedback จากอาจารย์เพื่อมาปรับแก้ในตอนสอบจริงแทน 

       ที่สำคัญที่อยากให้ระวังคือวิชานี้อ่ะ "หากถอนแล้วจะไม่สามารถลง EXP ENG II ได้" จำเป็นต้องเรียนตัว EXP ENG I ให้ผ่านก่อน จึงจะลงวิชานั้นได้ ฮะ

💻 Computer Programming (COM PROG)

    ความยาก(สำหรับคนเริ่มเขียนโปรแกรม) : 9.5 / 10
    ความยาก(สำหรับคนเคยเขียนมาระดับนึง) : 6.5/10
    การตัดเกรด : อิงเกณฑ์ (เขียนด้วยภาษา Python)
การให้เกรด นึกถึงฟิลตอนอยู่มัธยมเลยแหล่ะ T-T
ที่มา : coursesyllabus ของรายวิชา
    การเก็บคะแนน
         1. คะแนนมอบหมายของอาจารย์ประจำเซค (แล้วแต่เซค) : 10%
         2. สอบ เกรดเดอร์ (ระหว่างเทอม) 3 ครั้ง : 40% (10/15/15)
         3. การบ้าน 5 ครั้ง : 20% 
         4. สอบกลางภาค : 10% (ข้อกาล้วน 60 ข้อ)
         5. สอบปลายภาค : 20% (ข้อกา + เขียนโค้ดในกระดาษ)

    เนื้อหาที่เรียน
         1. Data Types & Expression
         2. Basic String & List
         3. Selection (if - else - elif)
         4. Repetition (while - for)
         5. List Processing 
         6. Function
         7. String & File Processing
         8. Basic Dict
         9. Nested Loop & List & List Comprehension
      10. Tuple/Set/Dict
      11. NumPy
      12. Class & Object

    รีวิววิชาเรียน
        โดยภาพรวมนะ วิชานี้คือเป็น วิชาเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ที่ไม่เบื้องต้น เลยฮะ เพราะสำหรับวิชานี้จะมีกลุ่มนิสิตอยู่ 3 แบบหลักๆ คือ 1.กลุ่มเทพ โคตรเทพมากๆ (เพื่อนเราคนนึงมันเล่นทำคะแนนเก็บได้ 78.xx / 80 ก่อนสอบปลายภาค แค่ดิ่งปลายภาค ก็ A แล้วอ่ะ 555+) ไปเลย 2.กลุ่มที่ไม่ได้เลย  ซึ่งส่วนมากจะมีกัน 2 กลุ่มนี้อยู่เยอะมากๆ และกลุ่ม 3. คือกลุ่มที่ปานกลาง พอรอดไปได้ (กลุ่มนี้มีน้อยเมื่อเทียบกับ 2 กลุ่มแรก //เราก็กลุ่มนี้แหล่ะ) 

ภาพนี้แสดงถึง ช่วงคะแนนสอบ Midterm ของวิชานี้
(คะแนนเต็ม 60 ===> หาร 6)

       ที่สำคัญของรายวิชานี้คือ สำหรับบางสาขาที่จะเข้านั้น น้ำหนักคะแนนของวิชานี้ค่อนข้างไปทางสูง ถึงสูงมากๆ เลย ใช่ IE * 5 , CE * 9 เป็นต้น และ สำหรับรายวิชานี้เท่านั้น หากถอนเมื่อไหร่จำเป็นที่จะต้องลงเรียนใหม่ในตอนปี 2 ขึ้นไปเท่านั้น (ไม่สามารถถอนตอนปี 1 เทอม 1 แล้วไปลง ปี 1 เทอม 2 ได้)

        สำหรับเซคเรา อาจารย์จะมีกิจกรรมให้ทำโจทย์กันในห้อง ซึ่งเป็นการช่วยกันทำในกลุ่ม และคุยกันได้ ซึ่งทำให้ 10% ในส่วนนี้ได้ง่ายมาระดับนึงแหล่ะ แต่ความยากของวิชานี้มันอยู่ตรงที่ปัญหา 2 สิ่งฮะ

        1. การสอบระหว่างเทอม หรือการสอบ Grader (เว็บไซต์สำหรับเขียนโปรแกรมของนิสิตที่เรียน)
ตัวอย่างเว็บ
        ในการสอบแต่ละรอบจะให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง 3 ข้อ ออกแนวโจทย์ปัญหา ซึ่งยากตรงนี้แหล่ะฮะ ที่แต่ละรอบเราจะไม่รู้เลยในแว๊บแรกว่าต้องใช้อะไรมาแก้ปัญหาข้อนั้น บางข้อสตอรี่เหนือความคาดหมายมาก ในการแต่งโจทย์ (ขอชมเลยฮะ แต่งเรื่องดีมาก 555+) + กับเวลาที่เฉลี่ย 30 นาทีต่อข้อในภาวะกดดัน สำหรับเราคือโหดมากกก 

        2.การบ้าน 20% 
            จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากอะไรมากมายขนาดนั้น สำหรับเทอมนี้ของเรา จะมี 5 ครั้งครั้งละ 2,3,4,5,6 คะแนน ซึ่งแต่ละครั้งจะให้เวลาทำ 1 สัปดาห์หลังประกาศการบ้าน และเป็นปัญหาที่วัดหลายๆ เรื่องในครั้งเดียว ซึ่งปัญหาสำหรับหลายคนคือ " ห้ามลอก" , "ห้ามโค้ดซ้ำ กันระดับโครงโปรแกรมเหมือน แต่ตัวแปรต่างอย่างนี้ก็ไม่ได้ " เพราะมันจะผิดข้อห้ามของรายวิชานี้ โดยข้อห้ามของรายวิชานี้ก็แล้วแต่เทอมฮะ ว่าจะเป็นยังไง

        อ้อใช่ วิชานี้เป็นวิชาที่สำหรับเราแล้วมีการ จัดการการเรียนการสอนที่ดีมากๆ เลย เพราะมีทั้ง discord ประจำรายวิชา ที่มีทั้งพี่ TA และอาจารย์ หรือรวมไปถึงเพื่อนๆ ที่เทพๆ รอช่วยตอบคำถามที่เราสงสัยตลอดเวลาเลย

  คำแนะนำ
            1. อย่าลอกโค้ดเพื่อน (โดยเฉพาะการบ้าน) แนะนำให้ขอเพื่อน และพยายามศึกษาการเขียน หรือแนวคิดจากเขา
            2. อย่าท้อฮะ สำหรับวิชานี้ แม้ว่ามันจะยากจริงๆ แต่ก็อยากให้สู้! จนถึงนาทีสุดท้าย ลองคิดหลายๆ ทางดู หัด debug โปรแกรมให้เป็น และเช็คจุดที่คิดว่าผิดพลาดเองให้เป็นด้วย
            3. ไม่ได้ตรงไหนให้รีบถามอาจารย์ , พี่ๆ หรือเพื่อนๆ เลย เพราะ หากเราไม่รู้เรื่องไหนๆ มันจะสะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งแก้ภายหลังยากมากๆ 
            4. คลิปของอาจารย์สมชาย อันนี้สามารถเปิดผ่าน mycourseville หรือ youtube ก็ได้ ควรจะดูหากคิดว่าตัวเองไม่มีพื้นฐานมาเยอะ เพราะอาจารย์จะสอนค่อยเป็นค่อยไปมากๆ 

🔧 Engineering Materials (ENG MATERIALS)

        ความยาก : 7.5/10 
        การตัดเกรด : อิงเกณฑ์

      การเก็บคะแนน : สอบ 100% แบ่งเป็น Midterm (50%) + Final (50%)
      เนื้อหาที่เรียน
           1. Metal and Alloys
           2. Ceramics
           3. Polymers
           4. Composits
           5. Concrete
           6. Wood
           7. Construction steels

               หมายเหตุ : ทั้ง 7 กลุ่มเราแบ่งตามกลุ่มเนื้อหาบทเท่านั้น โดยเนื้อหาจริงๆ ทั้งหมดจะมีตามสไลด์ดังนี้ (24 สไลด์ใหญ่ ประมาณ 23 บทเรียนฮะ โดย 1-13 เป็น Midterm //เทอมนี้วิชาตรงกับวันหยุดเยอะในช่วงแรก แต่โดยปกติจะแบ่งเป็น 12 : 12 นะ // และที่เหลือเป็น Final)
แนะนำให้กดภาพใหญ่เพื่อซูม

        รีวิววิชาเรียน
            วิชานี้เป็นวิชาที่จำเยอะมากที่สุดประจำกลุ่มนี้แหล่ะ 555+ เเต่ถ้า จำได้เยอะ ก็ทำข้อสอบได้เลย เพราะด้วยความที่เนื้อหาเยอะ อ.เลยออกลึกเยอะไม่ได้หรอก เพราะหนักหนาสาหัสเกินไปจริงๆ TT 

            โดยสำหรับเราแล้ว วิชานี้ เป็นวิชาที่เราค่อนข้างชอบ เลยแหล่ะ เพราะมันศึกษาเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ แม้จะไม่ลึกเวอร์มากแต่ก็ทำให้เราเห็นภาพรวมของวัสดุต่างๆ ที่รอบตัวเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเหล็ก ,คอนกรีต ,พอลิเมอร์ ฯลฯ 
        
       คำแนะนำ
            1. เนื่องด้วยเป็นวิชาท่องจำ แนะนำว่า อย่าดอง! ไม่งั้นหนักหนาสาหัสแน่นอน
            2. เขียนชื่อให้ครบทุกแผ่นที่เขาให้เขียนด้วย ไม่งั้นเขาอาจไม่ตรวจนะ
            3. มีคำนวณบ้าง แต่เหมือน gen phy เขาให้สูตร กับเครื่องคิดเลขใช้ได้
            4. แบบฝึกหัดไม่มีเลย เน้นจำดิบๆ แล้วไปสอบเลย โหดมากๆ
            5. ควรมีความรู้เคมีติดตัวไปด้วยนิดหน่อย แต่ถ้ากลุ่ม B มาเรียนจะสะดวกระดับนึงเพราะ gen chem จะมีเนื้อหาที่สอนบางเรื่องอยู่ด้วย

🔍 Exploring Engineering World (EXPL ENG WORLD)

    ความยาก : 5/10
     การตัดเกรด : อิงเกณฑ์
    การเก็บคะแนน : เข้าเรียน 15% + Lecture 35% + Workshop 50%
                                 ไม่มีการสอบทั้ง midterm และ final

    รีวิววิชาเรียน
            วิชาถูกเรียกว่า "วิชาขึ้นชื่อ" เรื่อง ปริมาณของงานที่เยอะมากๆ แต่แลกกับการไม่มีการสอบ โดยใน 4 สัปดาห์แรก ที่เรียนจะเป็นการฟังบรรยายของอาจารย์ หรือบุคคลต่างๆ ในห้องเรียนรวม (วิชานี้เรียนพร้อมกันทั้งกลุ่ม ประมาณ 300 กว่าคน) โดยสามารถเรียนออนไซต์ หรือออนไลน์ผ่านซูมก็ได้ แต่ก็ มีการเช็คชื่อตลอดทุกคาบที่เรียน และในตอนท้ายจะมีกิจกรรมหรืองานให้ทำด้วย เช่น Feedback การบรรยาย ,Quiz , Reflection (เราได้อะไรจากการบรรยายฯ) ฯลฯ

            ในช่วงสัปดาห์ที่ 5 เป็นต้นไป เราแต่ละคนจะได้เลือก Cluster หรือกลุ่มงานที่เราสนใจในการไปทำ Workshop ที่มีคะแนนถึง 50% !! มีทั้งสิ้น 6 กลุ่ม

Cluster ทั้ง 6 กลุ่ม
ที่มา : Lecture Introduction

            ซึ่งเมื่อเราได้ Cluster เเล้ว ใน Cluster เราจะทำงานกลุ่มๆ ละ 8-9 คน (จับให้) ร่วมกันคิด Project งานในสิ่งที่เราสนใจออกมา แล้วร่วมกันทำคิด-ออกแบบ-นำเสนอ วิธีการต่างๆ ร่วมกันกับ workshop ในแต่ละ week ซึ่งในตอนท้ายจะมีการคัดตัวแทน cluster ทั้ง 6 กลุ่มเพื่อนำไปเสนองานต่อๆ ไปอีกด้วย แต่ด้วยความที่เวลาในการทำค่อนข้างน้อยมากๆ มันเลยดูเหมือนไม่สามารถทำงานเหล่านี้ได้สุดมากนัก และถ้ามีเวลามากกว่านี้จัดว่าเป็นวิชาที่ดีเลยแหล่ะ (สำหรับเรานะ)

    คำแนะนำ : ไม่มีเลยจ้าาา เน้นเข้าคาบครบ + ส่งงานครบ ก็โอเคเเล้วแหล่ะ 😁


💬💬 ปิดท้าย 💬💬
      ก็จบไปแล้วฮะ สำหรับการรีวิวแต่ละวิชาเรียนสำหรับวิศวะ จุฬา ปี 1 ในเทอมนี้ หวังว่าทุกๆ คนจะชอบและสนใจกันฮะ 📔

      สำหรับคนที่อยากเข้าที่นี่ ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า  " จริงๆ แล้วที่พูดมาไม่ได้จะขู่ หรืออะไรแต่อย่างไรนะ...  " แต่อยากให้รับรู้ และเข้าใจภาพรวมของการเรียนของที่นี่ให้มากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาเรียนเด้อ แล้วเกณฑ์หรือการเรียนการสอนในแต่ละปี ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมเสมอเลย 

    ถ้าเรามีข้อมูลใดๆ ผิดพลาด หรือมีความสนใจสำหรับวิชาไหนเป็นพิเศษก็สามารถทักมาทาง ig เราได้เลยยย ยินดีตอบฮะ

ขอบคุณมากๆฮะ
shota.diary

หมายเหตุ : สำหรับเทอม 2 สามารถกดลิงค์นี้ได้เลย ==> Link!

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

EP 3 : รีวิววิชาเรียนของวิศวะจุฬา ปี 1 เทอม 2 ปีการศึกษา 2565

EP4 : รีวิววิชาเรียนของวิศวะ(อุตสาหการ)จุฬา ปี 2 เทอม 1 ปีการศึกษา 2566